กลับมาพบกันอีกครั้งกับงาน Bitcoin Addict Meetup ในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา กับหัวข้อในครั้งนี้คือ Bitcoin เสียภาษีอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่พวกเราควรต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทัน โดยได้รับเกียรติจาก คุณอัครราชย์ บุญญาศิริ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนักวิชาการภาษีชำนาญการ ของกรมสรรพากร รวมถึง ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ CEO ของ iTAX และ คุณพีรพัฒน์ หาญคงแก้ว ซึ่งเป็น CEO ของ Blockchain-review มาปูพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับ Bitcoin & Blockchain ว่ามันคืออะไร รวมไปถึง Panel discussion ในหัวข้อ อนาคตภาษีด้านสกุลเงินดิจิตอลในประเทศไทย
Bitcoin เสียภาษีอย่างไร
เริ่มกันที่หัวข้อแรกภายในงาน คุณอัครราชย์ บุญญาศิริ นักวิชาการภาษีชำนาญการ จากกรมสรรพากร กล่าวว่า Bitcoin นั้นเป็นเรื่องใหม่ และมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดเก็บภาษีอยู่ตลอด ในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว ได้มีการจัดหมวดหมู่ให้เงินได้ที่บุคคลได้รับจากสินทรัพย์ดิจิตอลให้อยู่ประเภทผลตอบแทนทางการเงิน โดยจะแบ่งออกเป็น 2 มาตรา ได้แก่
- มาตรา 40 (4) (ซ) เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใด ที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิตอล
- มาตรา 40 (4) (ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโตเคอเรนซี่หรือโทเคนดิจิตอล ที่ตีราคาเป็นเงินได้มากกว่าทุน พูดง่ายๆว่ากำไรจากการขายนั่นเอง
นอกจากนั้นมีการกำหนดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 15% ของเงินได้ที่บุคลธรรมดาได้รับจากสินทรัพย์ดิจิตอล ต่อมา ในส่วนของกฎหมายที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา นั่นคือ จะมีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บุคคลธรรมดาที่มีการซื้อขายผ่าน Exchange โดยตอนนี้ยังอยู่ในช่วงการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
ต่อมา คุณอัครราชย์ กล่าวว่า Crypto นั้นเป็นลักษณะของ “สินค้า” ในแง่ลักษณะของสินทรัพย์ และเนื่องจากถูกมองเป็นสินค้าจึงต้องมีภาษีมูลค่าเพิ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้หากมีกำไรจากการขายก็จะต้องมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย การเทรดดิ้ง ก็เช่นกัน จะมีการเก็บภาษีหากขาย Crypto แล้วมีกำไร
ในส่วนการการขุด ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ว่าจะตีความการเก็บภาษีในขั้นตอนไหน ระหว่างขุดสำเร็จ หรือต่อเมื่อขายออกไป จะมีการประกาศความชัดเจนในภายหลังต่อไป
การจะหักต้นทุนจากการขุดของบุคคลธรรมดา จะต้องมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเป็นต้นทุนที่จ่ายไปเพื่อการได้มาซึ่ง Crypto จริงๆ แต่หากเป็นบริษัทการพิสูจน์จะง่ายกว่า เนื่องจากมีการทำบัญชีแยกต่างหากอยู่แล้ว
การวางแผนชำระภาษี สกุลเงินดิจิตอล
ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ CEO จาก iTAX Application ที่จะช่วยในการคำนวณภาษีซึ่งจะช่วยให้การคำนวณภาษีไม่เป็นเรื่องลำบาก โดยการวางแผนการชำระภาษี
เทคนิดในการทำให้เสียภาษีลดลง คือต้องทำให้เงินได้สุทธิลดลง นั่นคือลดรายได้ของเรา หรือเพิ่มค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อน
หากเราเทรด Crypto ในไทยก็ต้องเสียภาษีในไทย แต่หากเราไปเทรดในเว็บเทรดของต่างประเทศ รายได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศก็ไม่ต้องเสียภาษีในไทย
แนวโน้มในไทยตอนนี้คือ “เสีย” แต่ก็จะมีปัญหาต่อในการพิสูจน์กำไร ว่าจะตรวจสอบกันอย่างไร คงต้องรอให้มีการประกาศอีกที
คำตอบของคำถามนี้ ฟังดูแล้ว ก็เหมือนเราจะไม่ต้องเสีย เนื่องจากมันเป็นการเทรดในต่างประเทศ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเสียภาษีในไทยหากเข้าเงื่อนไขทั้งสองข้อดังต่อไปนี้
- ผู้เทรดอยู่ในไทยถึง 180 วัน
- เราโอนกลับเข้ามาในปีภาษีเดียวกันหรือไม่
หากเข้าเงื่อนไขทั้งสองข้อ เราก็ต้องเสียภาษีในไทยอยู่ดี
หากเรามีการโอน Crypto จากเว็บเทรดต่างประเทศเข้ามา โดยที่ไม่มีการ Cash out ออกมาเป็นเงิน Fiat ในส่วนนี้จะต้องรอการประกาศอีกทีว่าต้องเสียภาษีไม่
คำถามคือการใช้บัตรในลักษณะแบบนี้ เป็นการขนเงินเข้ามาในประเทศหรือไม่ อันนี้ในทางทฤษฎีคือเป็นการ Cash out ในรูปแบบหนึ่ง ก็ต้องเสียภาษีอยู่ดี แต่ในทางปฏิบัติก็เป็นภาระของทางราชการที่จะต้องไปตรวจสอบ ซึ่งก็คงเหนื่อยพอสมควร และต้องอาศัยความซื่อสัตย์ของนักลงทุนเองด้วย ที่จะต้องระบุลงไปตอนเสียภาษี
หากเรามีการเทรดในต่างประเทศ และเราได้เสียภาษีให้แก่ประเทศที่เป็นเจ้าของเว็บเทรดนั้นแล้ว เรายังต้องเสียภาษีในไทยอีกมั้ย? หากต้องเสียอีก ก็จะดูเป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อน จึงได้มีการตกลงกันโดยดูจากแหล่งรายได้เกิดที่ไหน เสียภาษีที่นั่น โดยรายชื่อประเทศที่มีการตกลงกันไว้ของไทยคือตามรายชื่อด้านล่าง
ในส่วนของแอป iTAX ก็มีในส่วนของ Crypto รองรับไว้ให้เรียบร้อยแล้ว หากใครมีรายได้ก็สามารถนำไปกรอกได้
Panel discussion ในหัวข้อ อนาคตภาษีด้านสกุลเงินดิจิตอลในประเทศไทย
ในการเสวนาครั้งนี้เราได้ผู้ดำเนินรายการคือ คุณกษมพัทธ์ วิธานวัฒนา CEO ของ ZMINE มาเป็นพิธีกร ร่วมกับวิทยากรผู้มีชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น คุณอัครราชย์ บุญญาศิริ นักวิชาการภาษีชำนาญการ จากกรมสรรพากร , คุณพีรพัฒน์ หาญคงแก้ว CEO ของ Blockchain-review , ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ CEO ของ iTAX Inc. โดยจะขอสรุปคำถามดังนี้ครับ
- จริงๆแล้ว Crypto เป็นสินทรัพย์หรือเป็นสกุลเงินมากกว่ากัน
ตอบ – ตามกฎหมายไทยตอนนี้ Crypto เป็นสินทรัพย์ไม่ใช่เงินตรา หากมีการนำไปขายก็จะเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง แต่ก็ต้องรอดูในอนาคตว่าจะมีการพัฒนาไปเป็นเงินตราได้หรือไม่ - ในอนาคต ไทยจะมีการยกเว้นภาษีให้แก่บุคคลธรรมดาที่ซื้อขาย Crypto บนเว็บเทรด อยากทราบว่าตอนนี้คืบหน้าไปประมาณไหนแล้ว
ตอบ – ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา เนื่่องจากมีผู้เกี่ยวข้องเสนอในประเด็นอื่นๆเข้ามาด้วย คิดว่าจะมีข้อยุติในเวลาไม่นานนี้ เนื่องจากเราต้องระวังเรื่องระวังเรื่องการฟอกเงินอีกด้วย - แล้ว Crypto จะถูกมองเหมือนหุ้นหรือไม่
ตอบ – คล้ายๆกัน แต่จะเฉพาะในกรณีที่มีการซื้อขายผ่านตัวกลางเท่านั้น จะไม่รวมในกรณีที่มีการซื้อขายกันโดยตรง - Forex มีการเก็บภาษีหรือไม่ แล้วหากเปรียบเทียบกับมุมมอง Crypto
ตอบ – ทุกคนที่เทรด Forex ต้องเสียภาษี ไม่มีการยกเว้น - สมมุติ ปีนี้เราฝากเงินเข้า Exchange เพื่อเทรด แต่ปรากฎว่า ขาดทุน เราจึงถอดใจและ Cash out ออกมา ผ่านมาอีกปี ฝากเข้าไปใหม่ ปรากฎว่ากำไร เค้าจะคิดภาษีอย่างไร
ตอบ – ภาษีคิดเป็นรายปี ถ้ามีกำไรก็ต้องเสียภาษี
- ICO Portal ที่กำลังจะได้รับอนุญาต กระบวนการเก็บภาษีจะเกิดขึ้นที่ฝั่งไหน อย่างไร
ตอบ – เราถือว่า Token ของ ICO เป็นสินค้าอย่างหนึ่งจึงต้องมีการเสียภาษี แต่เรื่อง ICO จะต้องมีการพิจารณามากขึ้น เนื่องจากจะมีกฎหมายอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อนาคตก็ต้องดูกันต่อไปว่า เราจะจัดให้ตัว Token นั้นเป็นอะไร ทั้งเรื่องของ ICO และ STO
- การขุด Crypto จะเสียภาษีอย่างไร
ตอบ – ในอนาคตจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะต้องเสียตั้งแต่ขุดได้มา หรือเมื่อขายออกไป ส่วนในเรื่องของต้นทุนการขุด บุคคลธรรมดาก็ต้องมีหลักฐานบอกได้ว่า ในส่วนนี้เป็นต้นทุนการขุดจริงๆ แต่ถ้าอยู่ในนามบริษัทก็จะไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจากมีการทำบัญชีเรื่องค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว - ตอนนี้ถ้าเราเทรดในไทยแล้วขายออกมาเป็นบาท แต่ว่ายังไม่ได้ถอนออกมาจาก Exchange จะถือว่ามีกำไรแล้วรึยัง และหากเอากำไรนั้นไปเทรดต่อแล้วขาดทุนจะคิดภาษีอย่างไร
ตอบ – หากมีกำไรก็ต้องเสียภาษี
ก็จบกันไปนะครับกับงาน Bitcoin Addict Meetup ตอน Bitcoin เสียภาษีอย่างไร ที่เราได้ร่วมพูดคุยกับวิทยากรที่มาให้ความรู้ในงาน และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มาร่วมงานได้สอบถามถึงข้อสงสัยที่เกี่ยวกับเรื่องภาษีคริปโตเคอเรนซี่ได้ ในบรรยากาศแบบสบายๆเป็นกันเองครับ และต้องขอขอบคุณวิทยากรทุกท่านที่สละเวลามาบรรยายให้ความรู้กับเรา รวมถึงผู้ที่มาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย โดยเพื่อนๆสามารถดูคลิปแบบเต็มๆได้ที่ลิ้งค์ด้านล่างครับ สุดท้ายงานครั้งนี้จะไม่ประสบความสำเร็จเลยถ้าขาดเพื่อนๆที่คอยสนับสนุนทุกคน แล้วไว้พบกันใหม่งานหน้านะครับ