“เราจะใช้เงินคริปโตในชีวิตประจำวันได้อย่างไร ถ้าราคาไม่เสถียร” เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ครุ่นคิดกันมานานแล้วครับ เพราะหนึ่งในคุณสมบัติของความเป็น “ค่าเงิน” อย่างหนึ่งคือ ต้องมีมูลค่าที่เสถียรในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ว่าราคาแกว่งตัวเดี๋ยวขึ้นหรือลงวันละเป็น 10% ซึ่งจะทำให้ธุรกิจต่างๆที่อ้างอิงค่าเงินนั้นดำเนินไปไม่ได้เลย นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เงินคริปโตนั้นต่างจากเงิน fiat เช่น เงินบาท ดอลลาร์ เพราะเงินพวกนี้ถูกควบคุมโดยรัฐบาลให้มีราคาค่อนข้างคงที่ตลอด ในขณะที่คริปโตนั้นราคาทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดอย่างเดียว ในความเห็นของผมนั้นมูลค่าของเงินคริปโตจะไม่มีทางเสถียรเหมือนเงิน fiat โดยดูตัวอย่างได้จากราคาทองคำ แม้ว่าตลาดทองคำจะมีขนาดใหญ่กว่าคริปโตมากจึงทำให้ราคามีความเสถียรมากกว่า แต่ก็ยังมีการแกว่งตัวอยู่ในระดับที่มากพอสมควร
กำเนิดของ Stablecoin
แนวคิดการทำ stablecoin หรือเงินคริปโตที่มีมูลค่าคงที่นั้นมีมานานแล้วครับ ตัวอย่างที่มีการใช้งานแล้วก็คือ Tether หรือ USDT ซึ่งเป็นคริปโตที่ทำการผูกมูลค่ากับเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) โดย 1 USDT = $1
การออกเหรียญ USDT นั้นทำแบบดั้งเดิมครับก็คือ ให้คนฝาก USD จริงๆเข้าไป และก็จะส่งเหรียญ USDT คืนมาให้ตามจำนวนเงินที่ฝากเข้าไปนั่นเอง ซึ่งการทำแบบนี้อาจมีปัญหาหลายอย่างเช่น 1. เป็นกระบวนการที่ centralized แบบ 100% ถ้าเว็บ Tether โดนแฮ็คก็จะเกิดความสูญเสียอย่างมหาศาล 2. ไม่มีความโปร่งใส นึกจะพิมพ์เหรียญก็พิมพ์ออกมากันทีเป็นสิบล้านๆ แถมตัวบริษัท Tether นั้นยังปฏิเสธการให้ผู้ตรวจสอบบัญชีที่เป็นกลางเข้ามาตรวจสอบบัญชีของบริษัทตัวเองหลายครั้ง จนหลายคนไม่แน่ใจว่าเจ้า USDT มี USD แท้ๆแบ็คอยู่จริงหรือไม่
DAI : stablecoin ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการ
ด้วยปัญหาของ stablecoin แต่เดิมที่ centralized และไม่โปร่งใส DAI เหรียญ stablecoin จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา โดยคุณสมบัติของ DAI นั้นจะทำการผูกมูลค่าไว้กับ USD เหมือนกับ Tether เลย 1 DAI จะมีค่าเท่ากับ $1 แต่มีกระบวนการพิมพ์เหรียญที่โปร่งใสตรวจสอบได้และยั่งยืนกว่า โดยในการสร้างเหรียญ DAI นั้นผู้ใช้ต้องใช้ dapp ที่ชื่อว่า MakerDAO กระบวนการสร้างเหรียญจะขึ้นกับสิ่งที่เรียกว่า collateral ซึ่งผมขอใช้ภาษาไทยเรียกง่ายๆว่า “การจำนำ”
เริ่มแรกผู้ใช้จะทำการฝากสิ่งที่เอาไปจำนำในระบบซึ่งก็คือ ETH นั่นเอง ระบบจะทำการสร้างสัญญาที่เรียกว่า collateralized debt position (CDP) จากนั้น ETH ของผู้ใช้จะถูกล็อค และจะได้เหรียญ DAI กลับมาเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน ผู้ใช้จะได้ ETH คืนก็ต่อเมื่อนำเหรียญ DAI จำนวนเท่ากันมาไถ่ถอน ETH คืนบวกกับค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายเป็นเหรียญ Maker เหมือนไถ่ถอนของติดจำนำนั่นเอง
กลไกการสร้างเหรียญ DAI โดย DAI foundation
ปริมาณ DAI ที่ผู้ใช้จะได้รับจะขึ้นกับราคาเป้าหมายการ liquidate ที่ได้ตั้งไว้ ถ้าตั้งไว้ที่ราคาต่ำ จำนวน DAI ที่เราจะได้รับจากการจำนำก็มีน้อย แต่ก็จะปลอดภัยกว่าจะเช่นกัน เนื่องจากเมื่อใดก็ตามที่ราคาของ ETH นั้นต่ำกว่าราคา liquidate ที่เราตั้งไว้ ETH ที่ถูกล็อคไว้ จะถูกนำมาบังคับขาย (liquidation) เพื่อใช้คืนทันที โดยทีม Maker อ้างว่าพวกเขาได้ใช้ oracle จำนวนมากในการดึงข้อมูลราคาของ ETH จากเว็บแลกเปลี่ยนหลายสิบแห่งมาเฉลี่ยเพื่อใช้อ้างอิง เพื่อป้องกันการ manipulation ซึ่งจะส่งผลให้ ETH ในสัญญาของผู้ใช้ถูกบังคับขายโดยไม่สมควร
กลไกตลาดจะควบคุมราคา DAI ให้ใกล้เคียง $1
เนื่องจาก DAI นั้นสามารถเอาไว้ไถ่ถอน ETH ที่ถูกล็อคไว้ในสัญญาจำนำ ราคาของมันจึงถูกควบคุมให้ใกล้เคียงกับ $1 โดยอัตโนมัติโดยกลไกตลาด
โดยเมื่อราคา DAI ในตลาดตกลงไปต่ำกว่า $1 นั่นหมายถึงผู้ใช้ที่ได้ล็อค ETH ไว้ในสัญญา จะสามารถไถ่ถอน ETH ของตัวเองได้ในราคาที่ต่ำลง ดังนั้นคนก็จะไปซื้อ DAI เผื่อมาไถ่ถอน ETH ของตัวเองคืน ส่งผลให้ demand ในตลาดเพิ่มขึ้นราคาเหรียญก็จะสูงขึ้นจนเข้าใกล้ $1
แต่เมื่อราคา DAI สูงกว่า $1 ก็จะเป็นการจูงใจให้คนทำการฝาก ETH เข้าในสัญญาเพื่อทำการพิมพ์ DAI ออกมามากขึ้นเพราะเป็นเงินที่ได้มาฟรีๆ เมื่อ supply ในตลาดมากขึ้นราคาก็จะหล่นลงมาจนใกล้เคียงกับ $1 นั่นเอง
กลไกนี้จะช่วยคุมราคาของ DAI ให้แกว่งตัวอยู่ในช่วงใกล้เคียง $1 เสมอๆ โดยอาจมีบางช่วงเวลาที่ราคาพุ่งสูงไปกว่าปกติเช่น กรณีที่ตลาดคริปโตร่วงอย่างรุนแรงทำให้เกิดความต้องการ stablecoin แต่ราคาก็จะกลับสู่สภาวะปกติได้ในเวลาไม่นาน
การใช้ DAI เพื่อ leverage position ใน ETH ของเรา
นอกจาก DAI จะทำหน้าที่เป็นเหรียญ stablecoin ที่มูลค่าคงที่แล้ว ผลพลอยได้ของมันควบคู่กับ dapp Maker ยังทำให้เราสามารถเล่น leverage หรือภาษาบ้านๆคือเล่น long เล่น short ได้ด้วย โดยมีวิธีการคือ
– long เมื่อเราคิดว่า ETH จะราคาขึ้นให้ทำการฝาก ETH เข้าในสัญญา CDP เพื่อจำนำเอา DAI ออกมา เมื่อได้ DAI มาแล้วก็ให้นำไปใช้ซื้อ ETH เมื่อ ETH ขึ้นก็ให้ขายออกบางส่วนเพื่อนำไปซื้อ DAI เอาไปไถ่ถอน ETH ที่ถูกล็อคไว้ เมื่อจบกระบวนการ เราก็จะได้เหรียญ ETH มากขึ้น จากการไถ่ถอนที่จำนำไว้คืนรวมกับ ETH ที่ซื้อเพิ่ม แทนที่จะมีจำนวนเท่าเดิมโดยการ hold อย่างเดียว
– short หากคิดว่าราคา ETH จะตก ให้เปิดสัญญา CDP เพื่อนำ DAI ออกมา และเมื่อราคา ETH ตกก็ใช้ DAI ที่ได้มาช้อนซื้อ ETH ในตลาดก็จะได้จำนวนเหรียญที่มากขึ้น แต่วิธีนี้นั้นมีปัญหาหลายอย่าง เพราะการเปิดสัญญาจำนำนั้นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมด้วยเหรียญ Maker จึงเป็นการสิ้นเปลือง การขาย ETH ในตลาดตรงๆ หรือเปิด short ในเว็บที่รองรับการเทรดฟิวเจอร์จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
อย่างไรก็ดี การเล่น leverage มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเหรียญที่เราฝากไว้มีโอกาสถูกบังคับขายได้หากราคาลดต่ำกว่าราคาเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้นผู้ที่ต้องการลงทุนด้วยวิธีนี้จึงต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก
สรุป
DAI เป็น stablecoin ที่มีกระบวนการในการคุมราคาให้คงที่ที่ decentralized โปร่งใสตรวจสอบได้เพราะทำบน blockchain และใช้ smart contract และในความเห็นผู้เขียนกระบวนการนี้ยังทำออกมาได้อย่างประณีต ซึ่งตลาดจะเป็นตัวตัดสินว่า จะยอมรับ DAI ในฐานะการเป็น stablecoin ที่ยั่งยืนได้หรือไม่
บทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ DAI stablecoin