เหตุใด blockchain จึงเป็นเทคโนโลยีที่ “มาแน่” ?

0
2670

      ระยะหลังผมเห็นคนออกความเห็นต่อต้าน blockchain มากมาย ซึ่งบางอย่างมีประเด็นอยู่ แต่ส่วนมากเป็นการโจมตีจนเกินเลย ตัวอย่างเช่น บทความนี้

      ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ก็มีข้อผิดพลาดหลายอย่าง สร้างความเดือดดาลให้กับชาวคริปโตยิ่งนัก ผมแม้จะไม่เห็นด้วยกับบทความเป็นส่วนใหญ่ แต่ผมคิดว่าวิธีที่ดีกว่าในการโต้แย้งฝ่ายที่ต่อต้าน ไม่ใช่การด่ากราด หรือไปต่อว่าเจ้าของบทความ แต่เป็นการเขียนบทความออกมาออกมาสนับสนุนข้อดีของเทคโนโลยี blockchain และต่อไปนี้คือเหตุผลที่ blockchain จะเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในความเห็นของผมครับ

  1. ข้อมูลไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (immutability)

      การเก็บข้อมูลใน blockchain นั้นจะเป็นการเก็บแบบไม่มีตัวกลาง คือข้อมูลจะถูกทำสำเนาไปเก็บไว้ยังทุกๆ node ในเครือข่าย และทุกๆ node นั้นจะต้องมาหาฉันทามติ (consensus) ร่วมกันเพื่อหาความจริงที่มีเพียงหนึ่งเดียว เพราะฉะนั้นข้อมูลที่เก็บไว้ใน blockchain จึงปลอดภัยจากการถูกแก้ไขโดยคนบางคนบางพวกอย่างแน่นอน เพราะหากผู้ไม่หวังดีจะต้องการแก้ไขอะไรบางอย่าง จะต้องแก้ข้อมูลใน node ให้ได้เกินจำนวนครึ่งหนึ่งของเครือข่าย ซึ่งสำหรับเครือข่าย blockchain ที่มีจำนวน node เป็นพันเป็นหมื่นนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย

      blockchain จึงเหมาะกับการเก็บข้อมูลที่ห้ามแก้ไขอย่างที่สุดครับ ตัวอย่างเช่น “การเลือกตั้ง” เราคงปล่อยให้ผลเลือกตั้งเราเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์กลางดูแลโดยใครก็ไม่รู้แล้วก็ไม่รู้ว่าใครที่จะมี masterkey เจาะเข้าไปแก้ข้อมูลคะแนนการเลือกตั้งอย่างไรก็ได้แบบนั้นใช่ไหมครับ เพราะงานสำคัญอย่างการเลือกตั้งที่เป็นเรื่องชี้เป็นชี้ตายเดิมพันสูงมากขนาดนี้ เราจะปล่อยให้ระบบสามารถถูกคุมโดยคนบางคนไม่ได้ ไม่ใช่โอนเงินให้เพื่อน 50 บาทเสียหน่อย (ถ้าโอนเงิน 50 บาทให้เพื่อนจริงๆผมสนับสนุนครับให้โอนโดยวิธีใดก็ได้ตามสะดวก ไม่จำเป็นต้องใช้ blockchain)

      คนที่สนับสนุนการเลือกตั้งแบบ electronic voting ที่ใช้การโหวตผ่านคอมพิวเตอร์ ยิ่งต้องสนับสนุน blockchain เลยครับ เพราะหลายๆประเทศที่เคยใช้ electronic voting อย่างเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เขาได้ยกเลิกระบบนี้ไปนานแล้ว หรือประเทศที่เจริญแล้วอย่างฝรั่งเศสก็ยังใช้ลงคะแนนในกระดาษนับมืออยู่ ไม่ใช่ว่าประเทศพวกนี้เขาล้าหลังนะครับ แต่เขาไม่ไว้ใจระบบที่มีศูนย์กลาง

french election

การเลือกตั้งแบบลงคะแนนในกระดาษในฝรั่งเศส (ที่มา)

      ซึ่งปัจจุบันโปรเจ็คที่นำ blockchain ไปใช้กับการเลือกตั้งมีแล้วครับคือ Horizon State

 

  1. ต่อต้านการเซนเซอร์ (anti-censorship)

ผลจากการที่ไม่มีตัวกลางนี้เอง ทำให้เครือข่าย blockchain มีคุณสมบัติต่อต้านการเซนเซอร์ไปโดยปริยาย ไม่ว่าผู้มีอำนาจหรือรัฐบาลที่ไหนจะมาสั่งปิดก็ปิดไม่ได้เพราะไม่รู้จะไปปิดที่ใคร
เช่น สมมติผมอยากเขียนนิยายเรื่อง “แฮร์รี่ พ็อทตือ กับนาฬิกาที่หายไป” ลงเว็บของผม (นิยายนี้ไม่ได้พาดพิงบุคคลและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงใดๆทั้งสิ้น) เนื้อหาในนิยายนี้อาจไปขวางหูขวางตาบางคนเข้าให้ เลยส่งลูกน้องมายกเซิร์ฟเวอร์ผมถึงบ้าน แน่นอนถ้าเป็นแบบนั้นเว็บผมจะโดนปิดแบบถาวร แต่ถ้าเว็บของผมอยู่บน blockchain มันก็จะอยู่ไปตลอดกาล ทางเดียวที่จะลบได้ก็ตามที่ว่าไปแล้วคือไปแฮ็คเครือข่ายให้ได้เกิน 50% ซึ่งก็คือเป็นไปไม่ได้นั่นเอง

เว็บผมจะอยู่รอดปลอดภัย แต่ตัวผมจะโดนอุ้มแทน ตามสุภาษิตที่ว่า “ชีวิตคนนั้นแสนสั้น แต่ผลงานของเขานั้นจะอยู่ตลอดไป แฮ่…”

 

  1. ไม่มี single point of failure

     ยังจำข่าวนี้กันได้ไหมครับ ? พร้อมเพย์มีปัญหาเงินออกแต่ไม่เข้าปลายทาง ล่มทีเดียวเสียวกันทั้งประเทศ เรื่องของเรื่องคือมันไม่ล่มธรรมดา ดันอนุญาตให้โอนออกอีก แต่ปลายทางเงินไม่เข้า เล่นเอาใจหายวาบกันเลยทีเดียว

    เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นกับ blockchain ครับ เพราะจำนวน node ที่ช่วยทำธุรกรรมให้มีมากมายมหาศาล ไม่ขึ้นกับเซิร์ฟเวอร์กลางเพียงจุดเดียว ต่อให้ล่มไป 10 node เครือข่ายที่เหลือก็ยังทำงานได้ เพราะยังเหลือ node อีกเป็นพันเป็นหมื่น หรือต่อให้รัฐบาลจีนสั่งปิด ก็ปิดได้แต่ในประเทศตัวเอง คนประเทศอื่นก็ยังมาตั้ง node ช่วยให้เครือข่ายทำงานต่อไปได้อยู่นั่นเอง ทางเดียวที่จะปิด blockchain ได้ คือปิดอินเตอร์เน็ทซะ

     ด้วยคุณสมบัติที่ไม่มี single point of failure นี้เอง ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมากมายมหาศาล ที่แม้หน้าฉากจะออกตัวว่าต่อต้าน cryptocurrency ต่อต้าน bitcoin แต่ออกมารวมกลุ่มเพื่อพัฒนา blockchain กันใหญ่โตเลย โดยกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือ Enterprise Ethereum Alliance (EEA) เป็นกลุ่มที่พัฒนา blockchain บนพื้นฐานของ Ethereum เพื่อนำมาใช้ในองค์กร ตัวอย่างสมาชิกก็เช่น Microsoft, Intel แม้แต่ขาประจำด่าเงินคริปโตอย่าง JP Morgan ก็มากะเขาด้วย (เฮ้ย…)

EEA

ตัวอย่างสมาชิกของ Enterprise Ethereum Alliance (EEA)

 

  1. ความปลอดภัยสูง (security)

     ในการแฮ็ค blockchain ก็ต้องทำอย่างที่ว่ามาครับ คือต้องแฮ็คเครือข่ายให้ได้เกินครึ่งหนึ่ง (51% attack) ซึ่งถามว่าเป็นไปได้ไหม เป็นไปได้ครับสำหรับเครือข่ายที่ยังเด็กอยู่ เช่น bitcoin สมัยที่ Satoshi ยังทำเล่นๆกับเพื่อนไม่กี่คน แต่สำหรับเครือข่ายที่โต (mature) แล้ว มีเหมืองขุด มีคอมพิวเตอร์เป็นหมื่นๆหนุนหลังระบบอยู่ กล่าวได้ว่าเป็นไปไม่ได้ครับสำหรับเทคโนโลยีในปัจจุบัน และต่อให้มี 51% attack เกิดขึ้นจริงๆ แฮ็คเกอร์ก็ไม่ได้ทำได้ทุกอย่างได้ เช่น ไม่สามารถโอนเงินออกจากบัญชีของคุณได้ เพราะมันต้องการรหัส (private key) ซึ่งในปัจจุบันการแมตช์ให้ที่อยู่ (public key) ตรงกับ (private key) ได้นั้นต้องใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลเป็นหมื่นปีเลยทีเดียว

      นี่คือสำหรับ blockchain ที่เป็น public blockchain หรือเป็นสาธารณะนะครับ ถ้าเป็น private blockchain หรือ blockchain ส่วนตัวอย่างที่พวกบริษัท EEA กำลังพัฒนาในหัวข้อที่แล้วก็จะไม่ได้รับผลในข้อนี้ นี่เป็นสิ่งที่หลายคนกำลังถกเถียงกันว่า มันเหมาะสมหรือไม่ที่จะมาพัฒนา private blockchain

 

  1. โปร่งใส (transparency) ตรวจสอบได้

      ทุกธุรกรรมถูกบันทึกไว้ใน transaction history ตรวจสอบได้ตลอดครับว่า ใครทำอะไรบ้าง ไม่ต้องการคนกลางมา audit เลย เพราะบัญชีของคุณมันแสดงให้เห็นชัดๆอยู่แล้วว่าเคยไปทำอะไรมาบ้าง เว็บ Coinbase เว็บแลกเปลี่ยน bitcoin และเหรียญคริปโตชื่อดังของอเมริกายังเคยแบนไม่รับซื้อ-ขาย bitcoin ที่ได้มาจากเว็บการพนันเลยนะครับ ที่ทำได้เพราะประวัติของเหรียญมันบอกหมดครับว่าเคยผ่านมือใครมาบ้าง

      แน่นอนมันมีเหรียญอยู่หลายเหรียญที่เน้นในเรื่องการทำธุรกรรมแบบเป็นความลับ ซึ่งนั่นก็เป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้ที่ไม่ต้องการเปิดเผยธุรกรรมของตัวเอง แต่หากคุณต้องการความโปร่งใส การให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาใช้ blockchain แบบเปิดเผยนั่นเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีมาก

 

  1. ทรัพย์สินดิจิตอลที่เราจะเป็นเจ้าของมันอย่างแท้จริง (real ownership of digital asset)

      ทุกคนรู้ใช่ไหมครับว่า เวลาเราซื้อทรัพย์สินดิจิตอล เช่นไอเท็มหรือเงินในเกม ของสิ่งนั้นจะไม่เป็นของเราอย่างแท้จริง เป็นแค่ใบอนุญาตจากบริษัทเจ้าของตัวจริงให้เราใช้มันได้ในโปรแกรมและในเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น ตัวอย่างเรื่องนี้ก็เช่น การที่เกมคุกกี้รันหยุดให้บริการ เมื่อปิดไปแล้ว ไม่ว่าใครจะเติมเงินเป็นพันเป็นหมื่น จะมีคุกกี้กี่ตัวก็กลายเป็นอากาศหมดครับ ไม่มีของต่างหน้าด้วยซ้ำ (ซื้อหุ้นแล้วบริษัทล้มละลาย อย่างน้อยคุณยังเหลือใบหุ้นเอาไปจุดเตาถ่านได้นะคุณ)

       มันจะเป็นไปได้ไหมที่ทรัพย์สินของเราแม้จะอยู่ในรูปดิจิตอลแต่ก็เป็นของเราจริงๆ ? เป็นไปได้ครับถ้ามันอยู่บน blockchain ต่อให้เกมจะปิด บริษัทจะเจ๊ง แต่ของของเราก็ยังเป็นของเรา ไม่หายไปไหน มันจะอยู่ใน blockchain ไปตลอดกาล ใครก็ลบไม่ได้ (ถ้าเราไม่ทำรหัสหายเองนะ) ผมขอใช้ศัพท์ที่อุปโลกน์ขึ้นเองเรียกทรัพย์สินพวกนี้ว่า “Meta-asset” คือ เป็นสิ่งที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างทรัพย์สินที่เป็นของที่อยู่ในโลกจริงกับทรัพย์สินที่อยู่ในโลกดิจิตอล ขยายความคือ ถึงแม้ว่า Meta-asset จะเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้เหมือนทรัพย์สินดิจิตอลอื่นๆ แต่ผู้ครอบครองจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นโดยแท้จริง ไม่ใช่เป็นแค่เจ้าของชั่วคราวที่บริษัทจะยกเลิกสิทธิ์ของเราเมื่อไหร่ก็ได้ นอกจากนี้ Meta-asset แต่ละชิ้นยังทำให้มีเอกลักษณ์ให้มีแค่ชิ้นเดียวในโลกก็ยังได้ ผู้ซื้อ-ขายสามารถพิสูจน์ได้ทันทีว่าอะไรเป็นของจริงหรือของปลอมจาก transaction history ใน blockchain ไม่เหมือนทรัพย์สินดิจิตอลทั่วไปเหมือนเพลงหรือหนังที่จะก๊อปปี้ทำซ้ำจำนวนกี่รอบก็ได้ไม่มีความแตกต่างกัน

         สิ่งนี้จะเปิดพื้นที่ให้กับการประยุกต์ใช้ในหลายๆด้านเลย ไม่ว่าจะเป็นของสะสม รูปภาพไม่ว่าจะศิลปินหรือวงไอดอล งานศิลปะ (อ่านบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่นี่)

bnkbnk

รูปสะสมของวงไอดอลต่อไปอาจมาในอยู่บน blockchain ก็ได้นะครับ (ที่มา)

 

      ก่อนจะสรุป ผมในฐานะผู้เขียนต้องขอบอกว่า ไม่ชอบศัพท์ที่ชาวคริปโตเรียกคนนอกวงการ หรือคนที่ต่อต้านว่าเป็นพวก no coin ไม่มีเหรียญ ตกรถ ฯลฯ เพราะพูดแบบนี้เหมือนกับจะยกตนข่มท่าน คิดว่าตัวเองฉลาดกว่าคนอื่น จริงๆทุกคนมันก็มีการลงทุนในแบบที่ตัวเองถนัดทั้งนั้นแหละครับ คนอื่นเขาอาจไม่ถนัดลงทุนในเหรียญ ไม่ชอบ ไม่ใช่แนว ก็เป็นเรื่องของเขา ลงทุนเหรียญแม้จะกำไรดีแต่ก็ไม่ได้ดีไปทั้งหมด เพราะต้องรับกับความผันผวนและความเสี่ยงที่สูงมากเช่นกัน

      สุดท้ายแล้วด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น (และยังมีอีกหลายอย่าง) ต่อให้จะเป็นแฟนคริปโต จะสนใจหรือไม่สนใจที่จะลงทุนในวงการนี้ ไม่มีใครปฏิเสธเทคโนโลยีของมันได้หรอกครับ คุณจะได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่สร้างบนพื้นฐานของ blockchain แน่ๆไม่ว่าคุณจะสนใจลงทุนในโปรเจ็คเกี่ยวกับ blockchain หรือไม่ก็ตาม และมันจะมาแน่ มาโดยที่เราๆไม่ทันได้รู้ตัวด้วยซ้ำ…

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.